ประวัติสถาบันทักษิณคดีศึกษา

สถาบันทักษิณคดีศึกษาเป็นหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยทักษิณ มีที่ทำการอยู่ที่บ้านอ่าวทราย หมู่ที่ ๑ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

       เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ วิทยาลัยวิชาการศึกษา ได้เปิดวิทยาเขตประจำภาคใต้ขึ้นที่จังหวัดสงขลา ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ซึ่งขณะนั้นได้ถูกยืมตัวจากวิทยาลัยครูสงขลาให้มาช่วยราชการที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา โดยทำหน้าที่หัวหน้าภาควิชาภาษาไทยได้นำนักศึกษาออกฝึกเก็บข้อมูลภาคสนาม ผลจากการเก็บข้อมูลครั้งนั้นทำให้ได้ข้อมูลวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นวัตถุของจริง สมุดข่อย ข้อมูลที่เป็นมุขปาฐะในรูปของแถบบันทึกเสียง ภาพถ่าย ภาพสไลด์ และภาพยนตร์ พร้อมทั้งได้พบว่าข้อมูลวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีค่ายิ่งเหล่านั้นกำลังจะสูญหายไป จะต้องรีบจัดเก็บอย่างเร่งด่วน การจัดเก็บข้อมูลวัฒนธรรมจึงได้กระทำอย่างเป็นระบบ

       จนในปลายปี พ.ศ.๒๕๑๔ ภาควิชาภาษาไทยได้นำข้อมูลต่างๆ ที่เก็บรวบรวมได้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ หนังสือบุด สมุดข่อย และข้อมูลซึ่งบันทึกไว้ในแถบบันทึกเสียง มาจัดรวบรวมไว้ในห้องเดียวกันและตั้งชื่อห้องว่า “ห้องวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้” ซึ่งนับว่าเป็นจุดกำเนิดของสถาบันทักษิณคดีศึกษา จากห้องวรรณกรรมท้องถิ่นได้พัฒนาเป็นโครงการ "ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้" เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ โดยเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดอาคารศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ ต่อมาได้ยกฐานะเป็น "สถาบันทักษิณคดีศึกษา" ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓





       การดำเนินงานได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ จนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์  ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา ได้พิจารณาเห็นว่าทรัพยากรทางด้านวัฒนธรรมของภาคใต้มีนัยสำคัญยิ่งต่อการที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการปกครอง แต่จะต้องขยายงานด้านพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาและด้านอื่นที่เกี่ยวโยงกันให้ครบวงจรและมีศักยภาพสูงพอ ซึ่งได้มีการเตรียมการไว้มากพอที่จะเป็นฐานในการขยายงานได้ แต่จะต้องมีที่ทำการเพิ่มมากขึ้นและพื้นที่เดิมไม่สามารถขยายได้ เนื่องจากต้องใช้พื้นที่มาก จึงได้ศึกษาสถานที่ที่จะขยายงานและได้พบว่าบริเวณเกาะยอเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด คือบริเวณบ้านอ่าวทราย หมู่ที่ ๑ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยในระยะแรกสามารถจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้างได้ ๒๒ ไร่ พร้อมกับการเสนอโครงการขยายพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา เพื่อขอรับงบประมาณสำหรับการก่อสร้างที่ทำการใหม่ ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณ จำนวน ๒๑,๓๗๔,๐๙๗ บาท โดยเป็นงบประมาณผูกพัน ๓ ปี คือ ปี พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๓๒


 พิธีวางศิลาฤกษ์ได้กระทำเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๐ โดยนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานในพิธี การก่อสร้างได้แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณคดีศึกษา เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๔


    ในปี พ.ศ.๒๕๓๕  สถาบันทักษิณคดีศึกษาได้รับงบประมาณให้ก่อสร้างอาคารนวมภูมินทร์ ซึ่งเป็นอาคารที่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างขึ้นตามโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ การก่อสร้างได้แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๓๗ และสถาบันทักษิณคดีศึกษาได้จัดตกแต่งภายในอาคารเป็นห้องนิทรรศการต่างๆ ได้แล้วเสร็จรวม ๑๓ ห้อง ใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ ๒ ปี จึงเสร็จสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารนวมภูมินทร์ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๙


  จากนั้นมาสถาบันทักษิณคดีศึกษาก็ได้พัฒนาและดำเนินงานมาเป็นลำดับ  จนเป็นที่รู้จักและยอมรับของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ สถาบันทักษิณคดีศึกษาได้รับรางวัลดีเด่น “ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและโบราณสถาน” จากการจัดประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Award) ซึ่งจัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ได้รับรางวัล “หน่วยงานดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย” จากสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และในปี พ.ศ.๒๕๕๓ ได้รับรางวัลดีเด่น “ประเภทแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการเพื่อการเรียนรู้” จากการจัดประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Award) ครั้งที่ ๘ จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ รางวัลล่าสุด "Museum Thailand Popular Vote" จาก Museum Thailand Award 2018 ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจหนึ่งของหน่วยงานที่ได้ทำหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้ และการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของภูมิภาค