การเล่นของเด็กปักษ์ใต้

การเล่นของเด็กปักษ์ใต้

                   การเล่นของเด็ก เป็นการกระทำหรือการแสดงออกของเด็ก ซึ่งบางครั้งก็เป็นการแข่งขันเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และผ่อนคลายอารมณ์ การเล่นจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ตลอดจนเสริมสร้างจินตนาการและประสบการณ์ให้กับเด็ก ทำให้ชีวิตสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ เติบโตขึ้นเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ
                   ประวัติความเป็นมา การเล่นของเด็กเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมายาวนานจนยากที่สืบสาวถึงผู้เป็นต้นคิด สถานที่เกิด และช่วงเวลาที่เกิดการเล่นเหล่านั้น เนื่องจากการเล่นเป็นลักษณะธรรมชาติของเด็กทุกชาติทุกภาษาที่รักการเล่นเป็นชีวิตจิตใจ โดยเล่นคนเดียวหรือเล่นรวมกลุ่มกับเพื่อนก็ได้ เด็กสามารถเล่นได้ทั้งวันโดยไม่เบื่อหน่าย เล่นได้ทุกสถานที่ไม่ว่าในร่มหรือกลางแจ้ง บนบกหรือในน้ำ นอกจากจะเล่นเลียนแบบกันต่อๆมาแล้ว เด็กยังสามารถคิดสิ่งที่จะเล่นได้เองสารพัดจากประสบการณ์และสภาพแวดล้อม  การเล่นจึงเป็นเครื่องตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก และยังเป็นโอกาสให้เด็กได้ใช้จินตนาการอย่างกว้างไกล

                

                   จากการขุดค้นทางโบราณคดีในประเทศอียิปต์พบว่า ก่อนคริสต์ศักราช 1,400 ปี ชาวอียิปต์รู้จักเล่นลูกบอลที่ทำจากไม้ หญ้า และต้นอ้อ ต่อมามีการขุดพบลูกข่างที่ทำด้วยไม้ หินและโลหะผสม ลูกข่างบางลูกมีอายุถึง 1,250 ปี ก่อนคริสต์ศักราช นอกจากนี้ยังพบของเล่นประเภทสัตว์ เช่น วัว ม้า หนู แมว สิงโต และจระเข้ เป็นต้น  สำหรับของเล่นที่มีล้อลากชิ้นเก่าๆ มีอายุราว 500 ปี ก่อนคริสต์ศักราช 1  ส่วนประเทศทางตะวันออก เช่น จีนและญี่ปุ่น ก็พบว่ามีการเล่นลูกข่าง ลูกบอล และว่าวมาแต่โบราณ ชาวจีนยังใช้ว่าวเป็นสัญสักษณ์ของจักรพรรดิ และส่งสารในกองทัพด้วย ส่วนญี่ปุ่นใช้ว่าวในงานพิธีต่างๆ 2
       

                   สำหรับประเทศไทย พระยาอนุมานราชธนกล่าวไว้ในฟื้นความหลังว่า เรามีการเล่นมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อมนุษย์รู้จักเอาดินมาปั้นเป็นภาชนะ  จากนั้นเด็กก็เลียนแบบผู้ใหญ่ปั้นเล่นบ้าง  ดังจะเห็นได้จากการเล่นแตกโพละ3 เฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทย การเล่นของเด็กคงจะมีมาตั้งแต่มีคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณส่วนนี้แล้ว สิ่งที่เล่นน่าจะสอดคล้องกับการดำรงชีวิต จากการขุดค้นทางด้านโบราณคดีมีการพบลูกกระสุนดินเผา ซึ่งมีลักษณะเป็นดินเผาก้อนทรงกลมขนาดเล็กเท่าลูกแก้ว พบได้ทั่วไปในแหล่งโบราณคดีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ของภาคใต้ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าลูกกระสุนดินเผานี้คงใช้เป็นอุปกรณ์ร่วมกับหน้าไม้ดีดในการยิงนกหรือสัตว์เล็กๆ ลูกกระสุนดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์นี้พบที่แหล่งโบราณคดีถ้ำเบื้องแบบและถ้ำเขาชีชัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากลูกกระสุดินเผาทรงกลมแล้ว ยังมีการพบลูกกระสุนดินเผาทรงลูกข่าง มีขนาดตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.3-2.25 เซนติเมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางบริเวณแกนกลางยาว 2 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร ลูกกระสุนดินเผาทรงลูกข่างนี้พบที่ชุมชนโบราณเขาสามแก้ว (จังหวัดชุมพร) ชุมชนโบราณไชยา (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) ชุมชนโบราณท่าเรือ (จังหวัดนครศรีธรรมราช) และเตาเผาโบราณชุมชนปะโอ (จังหวัดสงขลา) 4 สันนิษฐานว่าลูกระสุนดินเผาทรงลูกข่างนี้  น่าจะเลียนแบบ หรืออาจจะเป็นต้นแบบของลูกข่างซึ่งเป็นของเล่นของเด็กในสมัยนั้น ส่วนลูกกระสุนดินเผาทรงกลมนอกจากใช้ล่าสัตว์แล้ว ก็อาจเป็นของเล่นเด็กได้เช่นกัน และในแหล่งชุมชนโบราณของภาคใต้ดังกล่าวที่มีการทำเครื่องปั้นดินเผา โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงสังคมเกษตรกรรม นอกจากเด็กจะเล่นปั้นดินเป็นภาชนะเลียนแบบผู้ใหญ่แล้ว เด็กสมัยนั้นก็อาจเล่นปั้นดินเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า และสุนัข เป็นต้น ทั้งลูกกระสุนดินเผา ลูกข่างและการเล่นปั้นดินเป็นรูปสัตว์ต่างๆ นี้น่าจะเป็นการเล่นแบบแรกๆ ของเด็กในภาคใต้ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการเล่นปั้นดินเป็นรูปสัตว์นั้นยังคงเล่นกันอยู่ในแถบชนบท ส่วนในเมืองเด็กอาจใช้ดินน้ำมันแทนดินเหนียวก็ได้

(ข้อมูล อุบลศรี  อรรถพันธุ์ นักวิจัยชำนาญการพิเศษ  สถาบันทักษิณคดีศึกษา)

 

1-3 อุดม  หนูทอง. (2529) “การเล่นของเด็กภาคใต้,” สารานุกรมวัฒนธรมภาคใต้ พ.ศ.2529  เล่ม 1. หน้า 169.

4 ธราพงศ์ ศรีสุชาติ และอมรา  ขันติสิทธ์. (2529) “เครื่องปั้นดินเผาพื้นเมือง : สมัยโบราณในภาคใต้,”สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.2529  เล่ม 2. หน้า 595.