ผ้าทอเกาะยอ

ผ้าเกาะยอ

หน่วยที่ ๑ ประวัติผ้าเกาะยอ

                ผ้าเกาะยอเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อของตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ที่ชาวบ้านตำบลเกาะยอยึดเป็นอาชีพสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และเป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างงดงาม จากการบอกเล่าของชาวบ้านอาวุโสได้ความว่า การทอผ้าเกาะยอมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังจะเห็นได้จากหลักฐานเกี่ยวกับปริศนาคำทายเกี่ยวกับเครื่องมือทอผ้าและเพลงกล่อมเด็กเก่าแก่หลายบทที่แสดงให้เห็นถึงค่านิยมและวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวเกาะยอ  เช่น

                   “...โลกสาวเหอ โลกสาวชาวบ้านนอก     นั่งอยู่โรงนอก   คือดอกดาววิง
                     ทอโหกทอฝ้าย  ทำได้ทุกสิ่ง                คือดอกดาวริง   ทุกสิ่งน้องทำ...เหอ..ได้..”
                                                                          สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ (๒๕๒๔ : ๑๓๒)
              จากเพลงกล่อมเด็กนี้สะท้อนให้เห็นภาพของผู้หญิงในหมู่บ้านของสงขลาว่าสามารถทำงานได้หลายอย่าง นอกจากจะหุงหาอาหารแล้วยังต้องทอผ้าได้ด้วยเพราะการทอผ้าเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานประการหนึ่งในการดำรงชีวิตของคนในสมัยก่อน โดยจุดประสงค์หลักของการทอผ้าเกาะยอเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยเป็นหลักทั้งเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันสงกรานต์ ประเพณีแต่งงาน งานบวช เป็นต้น
              การทอผ้าเกาะยอในระยะแรกใช้ “หูก” หรือ “กี่มือ” เป็นเครื่องมือในการทอผ้า ใช้ “ตรน” แทนกระสวย ใช้ฝ้ายที่ปลูกขึ้นเองเป็นเส้นใยสำหรับทอผ้า และย้อมผ้าเองโดยใช้สีจากธรรมชาติ และเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพของผ้าให้ดีขึ้น ทางกรมการเมืองสงขลาจึงส่งครูสอนทอผ้าจากเซี่ยงไฮ้ ๒ คน ปรากฏหลักฐานที่บ้านนายกริ้ม สินธุรัตน์ ซึ่งมีภาพครูสอนทอผ้า ชื่อ นายยี่สุ่นและนายพุดดิ้นมาสอนวิธีการทอผ้าด้วยกี่กระตุกให้ชาวเกาะยอเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๘๒ โดยใช้สถานที่ของวัดแหลมพ้อ จากนั้นจึงมีการใช้กี่กระตุกในการทอผ้ามาจนถึงปัจจุบัน และได้เปลี่ยนวิธีการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติมาเป็นสีที่ซื้อจากตลาด แต่เทคนิคการย้อมสียังไม่ดีพอทำให้สีผ้าตก เนื้อผ้าหยาบเนื่องจากเส้นใยที่ใช้เป็นฝ้ายที่ผลิตในท้องถิ่นเป็นเส้นใยขนาดใหญ่และแข็งเกินไปทำให้เนื้อผ้ายับง่าย ประกอบกับระยะหลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ผ้าที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศได้รับความนิยมจากประชาชนมากกว่า เพราะมีราคาถูก เนื้อนิ่ม ไม่ยับ สีไม่ตก ทำให้ผ้าเกาะยอไม่สามารถแข่งขันกับผ้าที่ทอจากโรงงานได้ ผ้าเกาะยอจึงถูกลืมไปกว่า ๓๐ ปี

                                                                                  

              จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๑๖ สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ สาขาจังหวัดสงขลา ซึ่งมีคุณหญิงชื่นจิตต์ สุขุม เป็นนายกสมาคมได้เข้ามาส่งเสริมการทอผ้าในตำบลเกาะยอ และเชิญผู้เชี่ยวชาญมาอบรมการทอผ้าและสอนวิธีย้อมผ้าที่ถูกวิธีให้กับชาวเกาะยอ ต่อมาได้นำเส้นใยสังเคราะห์และเส้นไหมเทียมที่มีสีสันต่างๆ เข้ามาใช้ในการทอผ้าแทนการทอด้วยฝ้ายล้วน ๆ ทำให้ผ้าเกาะยอมีสีสันสวยงามและมีคุณภาพดีขึ้น  
              ผ้าเกาะยอเริ่มเป็นที่รู้จักของตลาดมากยิ่งขึ้นเมื่อทางสมาคมสตรีนักธุรกิจได้มีการจัดงาน “ราตรีเกาะยอ” ขึ้นที่โรงแรมสุคนธาหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ จึงทำให้ผ้าเกาะยอเริ่มกลับเข้าสู่ความนิยมของประชาชนอีกครั้ง
              ปัจจุบันมีกลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มทอผ้าเกาะยอขึ้นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มท่าไทรกลุ่มทอผ้าดอกพิกุล ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๔ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้า ๑ มีโรงเรือนทอผ้าตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๓ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งกลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้า ๑ เป็นกลุ่มทอผ้าที่ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นกลุ่มทอผ้าที่ยึดการทอผ้าเกาะยอเป็นอาชีพอย่างจริงจัง มีการฝึกหัดสมาชิกในกลุ่มทั้งในระดับแม่บ้านและเยาวชนให้เรียนรู้ถึงกรรมวิธีในการทอผ้าเกาะยอ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน ซึ่งดูได้จากปริมาณของการผลิตผ้าที่กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้า ๑ สามารถผลิตได้ประมาณ ๒,๐๐๐ หลาต่อเดือน โดยกลุ่มสมาชิกจะได้รับค่าตอบแทนจากงานคนละ ๔,๐๐๐ – ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน ประธานกลุ่มได้ นำรูปเรือใบมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของสินค้าเนื่องจากเห็นว่าในสมัยก่อนชาวเกาะยอได้มีการค้าขาย โดยใช้เรือใบเป็นพาหนะในการขนส่งสินค้าออกสู่ตลาด
              ความประณีตในการทอ เส้นใยที่มีสีสันสดใส ประกอบกับความวิจิตรงดงามของลวดลายทำให้ผ้าเกาะยอมีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นกลายเป็นสินค้าหนึ่งในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือสินค้า O-Top ที่ขึ้นชื่อของตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาแล้วในปัจจุบัน 

หน่วยที่ ๒  เครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้า 
                เครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าเกาะยอแต่เดิมใช้กี่มือหรือที่ชาวบ้านในภาคใต้เรียกว่า “เก” “กี่” หรือ “หูก” ซึ่งพัฒนามาจากหลักการเบื้องต้นที่ต้องการให้มีการขัดลายกันระหว่างด้ายเส้นยืนกับด้ายเส้นพุ่งเป็นจำนวนมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดเป็นผืนผ้าขึ้นได้ ปัจจุบันเรียกเครื่องมือที่ใช้ทอผ้าเกาะยอว่า “กี่กระตุก” โดยเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ๒ ส่วน คืออุปกรณ์สำหรับการเตรียมด้าย และอุปกรณ์สำหรับขั้นการทอผ้าในกี่กระตุก

   ๑.  อุปกรณ์สำหรับการเตรียมด้าย ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
       ๑.๑ ดอกหวิง เป็นอุปกรณ์สำหรับหมุนเพื่อกรอเส้นด้านสีต่าง ๆ เข้าหลอดด้าย มีลักษณะคล้ายกังหันลม มีแกนกลางวางบนฐานไม้สองข้าง ส่วนกลางของดอกหวิงมีช่องสำหรับใส่เส้นด้าย

       ๑.๒ ไน เป็นอุปกรณ์กรอเส้นด้ายอย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นช่องสำหรับใส่แกนม้วนด้ายซึ่งผูกโยงกับดอกหวิง ปัจจุบันมีการนำมอเตอร์ไฟฟ้ามาเป็นตัวช่วยหมุน เมื่อมอเตอร์ไฟฟ้าทำงาน เส้นด้ายในดอกหวิงจะหมุนด้ายมาเก็บไว้ในแกนม้วนด้าย

       ๑.๓ หลอดค้น (ลูกค้น) เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในการค้นเส้นด้าย โดยเส้นด้ายทุกเส้นจะถูกม้วนหรือพันเก็บไว้ในหลอดค้น ซึ่งมีลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ ๘ นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ นิ้ว จำนวน ๑๕๒ หลอด หลอดค้นทำจากไม้ไผ่ แต่ปัจจุบันใช้ท่อน้ำพลาสติกแทน

       ๑.๔ รางค้น เป็นอุปกรณ์สำหรับเรียงหลอดด้ายค้น เพื่อเตรียมไว้สำหรับขั้นตอนการ เดินเส้นด้ายต่อไป รางค้นมีลักษณะเป็นแถว ๒ ชั้น มีแกนสำหรับใส่หลอดด้ายค้นจำนวน ๑๕๒ แกน อยู่บนเสาสูงประมาณ ๑.๕ เมตร ยาวประมาณ ๕-๘ เมตร

       ๑.๕ หลักค้น เป็นอุปกรณ์สำหรับพันเส้นด้ายที่ค้นตามจำนวนความยาวที่ต้องการ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๒ เมตร ยาว ๕-๘ เมตร ที่หัวหลักค้นมีหลักสูงประมาณ ๖ นิ้ว จำนวนประมาณ ๒๐ หลักอยู่ทั้งสองด้าน

       ๑.๖ ฟืม หรือฟันหวี มีลักษณะคล้ายหวี ยาวเท่ากับความกว้างของหน้าผ้า ทำด้วยโลหะมีลักษณะเป็นซี่เล็ก ๆ มีกรอบทำด้วยไม้หรือโลหะ แต่ละซี่ของฟืมจะเป็นช่องสำหรับสอดด้ายยืนเข้าไป เป็นการจัดเรียงด้ายยืนให้ห่างกันตามความละเอียดของเนื้อผ้า ฟืมเป็นส่วนที่ใช้กระทบเส้นด้ายที่ทอให้เรียงติดกันแน่นเป็นผืนผ้า ฟืมสมัยโบราณทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปนกหรือเป็นลวดลายต่าง ๆ สวยงามมาก

        ๑.๗ ตะขอเกี่ยวด้าย (เบ็ดเข้าฟืม) เป็นอุปกรณ์สำหรับเกี่ยวเส้นด้ายเข้าฟืม มีลักษณะเป็นเหล็กยาวประมาณ ๘ นิ้ว ส่วนปลายทำเป็นตะขอไว้สำหรับเกี่ยวเส้นด้ายเข้าฟืม ซึ่งเส้นด้ายทุกเส้นจะต้องใช้ตะขอเกี่ยวด้ายสอดไว้ในฟืมจนเต็มทุกช่อง

        ๑.๘  เครื่องรองตอนเข้าฟืม
        ๑.๙  ลูกหัด (ระหัด) เป็นอุปกรณ์สำหรับม้วนเก็บเส้นด้ายที่ค้นเสร็จแล้ว มีลักษณะคล้ายระหัดวิดน้ำ ซึ่งอยู่ที่ด้านปลายของแกนระหัดทั้งสองด้าน โดยหมุนม้วนเส้นด้ายเก็บไว้เพื่อเตรียมใส่ ในเครื่องทอผ้า

        ๑.๑๐ ไม้นัด เป็นไม้ที่สอดอยู่ในช่องด้ายยืน เพื่อช่วยให้ด้ายไม่พันกัน

        ๑.๑๑ ไม้ขัดด้าย หรือฟันปลา เป็นอุปกรณ์สำหรับขัดระหัดม้วนผ้าเพื่อไม่ให้ระหัดม้วนผ้าขยับเขยื้อนได้ ทำให้เส้นด้ายตึงอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงขั้นตอนการทอผ้าก็จะง่ายขึ้น

        ๑.๑๒ เครื่องม้วนด้าย ใช้สำหรับม้วนด้ายเข้าหลอดด้ายยืน
 

    ๒. อุปกรณ์สำหรับขั้นการทอผ้าในกี่กระตุก  ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
         ๒.๑ ฟืม หรือ ฟันหวี มีลักษณะคล้ายหวี ยาวเท่ากับความกว้างของหน้าผ้าทำด้วยโลหะมีลักษณะเป็นซี่เล็ก ๆ มีกรอบทำด้วยไม้หรือโลหะ แต่ละซี่ของฟืมจะเป็นช่องสำหรับสอดด้ายยืนเข้าไป เป็นการจัดเรียงด้ายยืนให้ห่างกันตามความละเอียดของเนื้อผ้า เป็นส่วนที่ใช้กระทบให้เส้นด้ายที่ทอเรียงติดกันแน่นเป็นผืนผ้า ฟืมสมัยโบราณทำด้วยไม้ แกะสลักเป็นรูปนกหรือเป็นลวดลายต่าง ๆ สวยงามมาก

         ๒.๒ เขาหูก หรือ ตะกอ/ ตระกอ คือส่วนที่ใช้สอดด้ายเป็นด้ายยืน และแบ่งด้ายยืนออกเป็นหมู่ๆ ตามต้องการ เพื่อที่จะพุ่งกระสวยเข้าหากันได้สะดวก เขาหูก มีอยู่ ๒ อัน แต่ละอันเวลาสอดด้ายต้องสอดสลับกันไปเส้นหนึ่งเว้นเส้นหนึ่ง ที่เขาหูกจะมีเชือกผูกแขวนไว้กับด้านบนโดยผูกเชือกเส้นเดียวสามารถจะเลื่อนไปมาได้  ส่วนล่างผูกเชือกติดกับคานเหยียบหรือตีนเหยียบไว้เพื่อเวลาต้องการดึงด้ายให้เป็นช่องก็ใช้เท้าเหยียบคานเหยียบนี้ คานเหยียบจะเป็นตัวดึงเขาหูกให้เลื่อนขึ้นลง ถ้าหากต้องการทอเป็นลายๆ ก็ต้องใช้คานเหยียบหลายอัน เช่น ลายสองใช้คานเหยียบ ๔ อัน เรียก ทอ ๔ ตะกอ  ลายสามใช้คานเหยียบ ๖ อัน เรียก ทอ ๖ ตะกอ จำนวนตะกอที่ช่างทอผ้าเกาะยอใช้มีตั้งแต่ ๒–๑๒ ตะกอ ผ้าผืนใดที่ทอหลายตะกอถือว่ามีคุณภาพดี มีลวดลายที่ละเอียด สวยงาม และมีราคาแพง

         ๒.๓ กระสวย คือไม้ที่เป็นรูปเรียวตรงปลายทั้งสองข้าง ตรงกลางใหญ่และมีร่องสำหรับใส่หลอดด้ายพุ่ง ใช้สำหรับพุ่งสอดไปในช่องด้ายยืนระหว่างการทอผ้า หลังจากที่ช่างทอผ้าเหยียบคานเหยียบให้เขาหูกแยกเส้นด้ายยืนแล้ว

         ๒.๔ ไม้แกนม้วนผ้า หรือไม้กำพั่น ชาวบ้านเกาะยอเรียกว่า “พั้นรับผ้า” เป็นไม้ที่ใช้สำหรับใช้ม้วนผ้าที่ทอแล้ว ไม้แกนม้วนผ้ามีขนาดความยาวเท่ากับกี่หรือเท่ากับความกว้างของหน้าผ้า

         ๒.๕ คานเหยียบ หรือตีนเหยียบ เป็นไม้ใช้สำหรับเหยียบเครื่องบังคับตะกอ เพื่อให้เชือกที่โยงต่อมาจากเขาหูกหรือตะกอดึงด้ายยืนให้แยกออกเป็นหมู่ ขณะที่ช่างทอพุ่งกระสวยด้ายพุ่งเข้าไปขัดด้ายยืนให้เกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ

         ๒.๖ สายกระตุก หรือเชือกดึงเวลาพุ่งกระสวย โดยช่างทอผ้าจะใช้มือข้างหนึ่งกระตุกสายเชือกนี้ กระสวยก็จะแล่นไปแล่นมาเอง และใช้มืออีกข้างดึงฟืมให้กระแทกเนื้อผ้าที่ทอแล้วให้แน่น จึงเกิดศัพท์ว่า “กี่กระตุก”

         ๒.๗ ระหัดถักด้าย เป็นไม้ระหัดสำหรับม้วนด้ายยืนที่ขึงอยู่บนกี่

         ๒.๘ หลอดด้ายพุ่ง เป็นหลอดไม้ไผ่ที่บรรจุด้ายสีต่าง ๆ สอดอยู่ในรางกระสวยเพื่อใช้พุ่งไปขัดด้ายยืนในขณะที่ช่างทอกำลังทอผ้า และกระตุกสายกระตุกไปหลอดเส้นด้ายพุ่งก็จะพุ่งไปขัดกับเส้นด้ายยืนเกิดเป็นลายผ้าตามต้องการ

         ๒.๙ ผัง เป็นไม้สำหรับค้ำความกว้างของผ้าให้หน้าผ้าตึงพอดีกับฟืม เพื่อว่าจะได้สะดวกเวลาทอ และเส้นด้ายตรงลายไม่คดไปคดมา ด้านหัวและด้านท้ายของผังจะผูกเข็มไว้เพื่อใช้สอดริมผ้าทั้งสองข้าง

         ๒.๑๐ ไน เป็นอุปกรณ์ที่แยกออกมาจากกี่ทอผ้า ใช้สำหรับปั่นด้ายเข้ากระสวย และปั่นด้ายยืนเข้าระหัดถักด้าย
 

 หน่วยที่ ๓  เส้นใย และการเตรียมเส้นด้าย
                 กระบวนการในการทอผ้า จำเป็นจะต้องมีการเตรียมเส้นด้ายสำหรับที่ใช้ในการทอผ้า ซึ่งการทอผ้าเกาะยอในอดีตใช้เส้นด้ายที่ทำมาจากใยฝ้ายชนิดสีขาวและสีกากีที่ชาวบ้านปลูกขึ้นใช้เองและย้อมผ้าเองโดยใช้สีจากธรรมชาติ เช่น จากเปลือก ราก แก่น และผลของต้นไม้เป็นหลัก เช่น สีแดงจากรากของต้นยอ สีเหลืองจากขมิ้นชันและแก่นเข (แกแล)  สีลูกหว้า (สีม่วงอ่อน)จากลูกหว้า สีตองอ่อนจากแถลง (มะพูด)  สีส้มจากสะตี  สีครามจากต้นคราม และสีเขียวจากเปลือกสมอ ใบหูกวาง คราม จากนั้นย้อมทับด้วยแถลงอีกครั้งหนึ่ง แต่กรรมวิธีการย้อมสีเส้นด้ายโดยวิธีการแบบเก่านั้น ยากกว่าจะย้อมเสร็จต้องผ่านหลายขั้นตอน ปัจจุบันจึงนิยมซื้อเส้นใยสำเร็จรูปหรือเส้นใยประดิษฐ์ เช่น โพลิแอสเตอร์และเรยอง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “เส้นด้ายโทเร” ไหมเทียมและเส้นไหมธรรมชาติมาใช้ทอผ้าเกาะยอแทนฝ้ายเพราะมีความคงทนถาวรและมีสีสันที่สวยงามกว่า
                  ประเภทของเส้นใยที่นำมาใช้ทอผ้าเกาะยอ ได้แก่
                  ๑. ฝ้าย เป็นเส้นใยนำมาใช้ทอผ้าเกาะยอในระยะแรก ๆ ได้จากเมล็ดของต้นฝ้ายที่ชาวบ้านปลูกขึ้นเอง ฝ้ายมีหลายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์อัปแลนด์ พันธุ์เอเซีย แต่ละพันธุ์จะให้เส้นใยที่มีความยาวแตกต่างกัน ตั้งแต่ ๐.๕-๒ นิ้ว เส้นใยขนาดยาวเมื่อนำมาใช้ทอผ้าจะทำให้เนื้อผ้ามีคุณภาพดีเพราะสามารถปั่นเป็นเส้นด้ายที่เรียบขนาดเล็ก แต่แข็งแรงและเป็นมัน  เส้นใยขนาดสั้นใช้ปั่นเป็นเส้นด้ายที่หยาบกว่า แม้จะไม่เรียบ ไม่ละเอียดเท่าเส้นใยขนาดยาว แต่ก็ทนทาน
                   ๒. เรยอง เป็นเส้นใยสังเคราะห์ที่นำมาใช้ในการทอผ้าเกาะยอในยุคปัจจุบัน ที่ผลิตจากสารเซลลูโลสธรรมชาติ เช่น เยื่อไม้หรือเศษฝ้าย เส้นใยประเภทนี้มีคุณสมบัติแตกต่างจากฝ้ายคือ มีความเหนียว ทนทาน มีความคงตัว และดูดความชื้นได้น้อยกว่าฝ้าย เรยองที่นำมาใช้ทอเป็นชนิดเกรด A เบอร์ ๔๐/๒  เนื่องจากลักษณะของเส้นใยมีขนาดพอดี ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป เนื่องจากขนาดของเส้นใยจะมีผลต่อความละเอียดของเนื้อผ้า
                   ๓. ไนลอน เป็นเส้นใยสังเคราะห์ที่นำมาใช้ทอผ้าเกาะยอ ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ชนิดโพลีอาไมด์ ไนลอนมีหลายสูตร เช่น ไนลอน ๖ และไนลอน ๖๖ เป็นต้น
                   ๔. โพลีเเอสเทอร์ เป็นเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ของเอสเตอร์ซึ่งเกิดจากไฮดริคอัลกอฮอล์ และกรดเตเฟธาลิค
                   ๕. ไหมเทียม เป็นเส้นใยสังเคราะห์ในกลุ่มอะคลิริกที่ชาวเกาะยอนำมาใช้ในการทอผ้าเกาะยอ เนื่องจากมีลักษณะเหนียว ทนทาน และราคาถูกกว่าไหมแท้
                    ๖. ไหมแท้ เป็นเส้นใยที่ทางกลุ่มทอผ้านำมาใช้ทอ โดยสั่งซื้อไหมแท้ เบอร์ ๓๐-๓๒ มาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ผ้าที่ทอจากไหมแท้จะมีราคาแพงกว่าไหมเทียม

การเตรียมเส้นด้ายสำหรับการทอผ้าเกาะยอ
                 จากหลักการพื้นฐานในการทอผ้าโดยทั่วไป คือการทำให้เส้นด้ายสองพวกขัดกัน เส้นด้ายพวกหนึ่งเรียกว่า ด้ายยืน และอีกพวกหนึ่งเรียกว่า ด้ายพุ่ง ดังนั้น ในการทอผ้าจึงต้องมีการเตรียมเส้นด้าย ๒ ประเภท คือ การเตรียมด้ายยืนและการเตรียมด้ายพุ่ง
                 ๑. การเตรียมด้ายยืน มีกรรมวิธีต่าง ๆ ดังนี้ คือ
                     ๑.๑ ก่อนจะทอผ้า ช่างจะต้องนำด้ายริ้วที่เป็นไจหรือชาวบ้านเรียกว่า “เข็ด” ที่ซื้อมาจากตลาดไปกรอเข้าหลอดด้ายยืนเสียก่อนเพื่อใช้สำหรับงานโดยเฉพาะ อุปกรณ์ที่ใช้กรอด้ายเรียกว่า เสาทอหวิงหรือดอกหวิง ระหว่างการกรอต้องหมั่นตรวจสอบดูว่าเส้นด้ายสม่ำเสมอดี ไม่มีรอยคอดที่จะทำให้ด้ายขาดเร็ว ไม่มีปุ่มปมซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการทอ ถ้ามีต้องเอาออกและต่อให้เรียบร้อย
                     ๑.๒ เมื่อช่างทอกรอด้ายเข้าหลอดด้ายยืนแล้ว จะนำไปใส่ในเครื่องเดินด้ายเพื่อทำด้ายค้นหรือด้ายวิ่ง ซึ่งมีราวสำหรับบรรจุหลอดด้ายทำด้วยไม้ไผ่หรือท่อน้ำพลาสติกยาวท่อนละประมาณ ๘ นิ้ว จากนั้นดึงด้ายมาสู่รางค้นซึ่งมีลักษณะเป็นแคร่ยาว ปลายทั้ง ๒ ข้างห่างกัน ๕ หลา แกนไม้ที่อยู่ริมแคร่ทั้งสองมีข้างละ ๑๙ แกน การค้นด้ายคือการสาวด้ายยืนนั้นเอง 
                      ในการทอผ้า เราต้องการให้ผ้ามีหน้ากว้างเท่าไรช่างทอจะเป็นผู้คำนวณจำนวนด้ายว่าจะใช้ด้ายกี่เส้น ตัวอย่างเช่น การทอผ้าขาวม้ากับทอผ้าพื้นหรือทอผ้าที่มีลวดลายขนาดของหน้าผ้าจะกว้างไม่เท่ากัน  เมื่อคำนวณจำนวนด้ายยืนแล้ว ช่างทอจะใส่หลอดกรอด้ายไว้ที่ราวบรรจุหลอดด้ายให้เท่ากับจำนวนเส้นด้ายที่คิดคำนวณไว้ จากนั้นดึงด้ายมาสู่รางค้นพร้อม ๆ กัน พันด้ายใส่ในแกนซ้าย-ขวาของรางค้น จะใส่ด้ายจำนวนกี่แกนขึ้นอยู่กับช่างทอว่าต้องการให้ผ้ายาวกี่หลา ซึ่งชาวเกาะยอเรียกว่า ยาวกี่ถุง โดยผ้า ๑ ถุง = ๒ หลา เช่น ถ้าต้องการทอผ้าให้มีความยาว ๘๐ ถุง ช่างทอจะต้องค้นด้ายถึง ๑๕ แกน และค้นจำนวน ๓๑ รอบ เมื่อค้นด้ายเสร็จแล้วจะปลดเอาด้ายออกมาจากแคร่แล้วขมวดให้เป็นลูกโซ่เพื่อป้องกันมิให้เส้นด้ายยุ่ง จากนั้นแยกเป็นกลุ่มเพื่อนำไปใส่ในฟืมภายหลัง
                       ๑.๓ การเอาด้ายใส่ในฟืมเรียกว่า การสอดฟันหวี หรือการเข้าฟืม โดยในฟันหวีซี่หนึ่งๆ จะสอดด้ายจำนวน ๒ เส้น ซึ่งความกว้างของผ้าทั้งผืนจะมีเส้นด้ายเท่ากับ ๑,๒๒๐ เส้นหรือชาวบ้านเรียก ๓๐-๓๐.๕ หลบ เพราะฟันหวี ๔๐ ซี่เท่ากับ ๑ หลบ ในการสอดฟันหวีจะต้องใช้แรงงาน ๒ คนให้นั่งอยู่คนละด้านของฟืม โดยคนหนึ่งทำหน้าที่สอดด้ายและอีกคนใช้ไม้เบ็ดเกี่ยวด้ายที่ถูกสอดผ่านมาอีกด้านของฟืม