ผ้าทอเกาะยอ : กลุ่มทอผ้าร่มไทร

กลุ่มทอผ้าร่มไทร


นายกริ้ม สินธุรัตน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มทอผ้าร่มไทร

นายกริ้ม สินธุรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2466 ที่บ้านท่าไทร ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวน 3 คน ของนายเฉ้ง นางเซ่ง  สินธุรัตน์ สมรสกับ นางแฉล้ม  จันทะโน อาชีพทอผ้า มีบุตรจำนวน 3 คน ได้แก่ นางลำยอง  ก่อตระกูล นางสาวยมนา  สินธุรัตน์ และ ด.ต.ประยูร  สินธุรัตน์


การศึกษาและการเรียนรู้

สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนประชาบาล (โรงเรียนวัดท้ายยอในปัจจุบัน) ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เรียนรู้การทอผ้าโดยเริ่มจากการทอผ้ากี่มือ ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 กรมการเมืองสงขลา ได้สนับสนุนส่งเสริมการทอผ้า โดยการจัดหากี่กระตุกมาใช้ทอผ้าแทนกี่มือ ซึ่งสามารถทอได้ถึงวันละ 4-5 หลา หน้ากว้าง 1 เมตร โดยได้ว่าจ้างชาวจีนซึ่งเป็นชาวเมืองเซี่ยงไฮ้ 2 คน คือ นายฟุดดิ้น  แซ่หลิว และนายยี่สุ่น  แซ่หลิว มาทำการสอนบริเวณวัดแหลมพ้อ หมู่ที่ 4 ถือเป็นการสอนวิธีทอผ้ากี่กระตุกเป็นครั้งแรกบนเกาะยอ ในครั้งนั้นมีผู้มาเรียนรู้การทอผ้าด้วยกี่กระตุกหลายคน รวมถึงนายยี่  แสงอรุณ ซึ่งถือได้ว่าเป็นศิษย์เอกของครูชาวจีน


เมื่อช่างชาวจีนเดินทางกลับไป นายยี่  แสงอรุณ ได้จัดตั้งโรงทอผ้าขึ้น ที่บ้านสวนทุเรียน หมู่ที่ 4 โดยได้รับการสนับสนุนจากคนแถวนครใน เมืองสงขลา ได้ถ่ายทอดความรู้การทอผ้าด้วยกี่กระตุกให้กับผู้สนใจ รวมถึงนายกริ้ม  สินธุรัตน์


หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ้าจากต่างประเทศได้รับความนิยมมากเพราะราคาถูก สีไม่ตก ส่งผลกระทบทำให้ผ้าทอเกาะยอถูกลืมไปกว่า 30 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ สาขาจังหวัดสงขลา ซึ่งมีคุณหญิงชื่นจิต สุขุม เป็นนายกสมาคมฯ ได้เข้ามาส่งเสริมการทอผ้าโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาอบรมการทอผ้า สอนวิธีการย้อมสีเส้นใย และนำเส้นใยสังเคราะห์เข้ามาใช้ในการทอผ้า ทำให้ผ้าเกาะยอมีคุณภาพดีขึ้น และสีสันสวยงาม นายกริ้ม สินธุรัตน์ เป็นครูช่างท่านหนึ่งที่ช่วยถ่ายทอดความรู้และทักษะการทอผ้าให้กับชาวบ้าน นายกริ้ม สินธุรัตน์ รอบรู้ถึงวิชาการและกระบวนการทอผ้า ในทุกขั้นตอนได้เป็นอย่างดี มีการสังเกต จดจำ มีความคิดสร้างสรรค์ ดัดแปลง และลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มีวิธีการเฉพาะ ในการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะ “ลายผกากรอง 8 ตะกอ” นับได้ว่ามีความเชี่ยวชาญในการทอผ้ามากเป็นพิเศษ ลวดลายของผ้าทอที่ได้ถูกดัดแปลงขึ้นให้มีความหลากหลาย ทำให้ผ้าทอเกาะยอมีลักษณะเด่น คือ สวยงามประณีต ลายผ้าทอมีหลากหลายและมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์



นายกริ้ม สินธุรัตน์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นบุคคลตัวอย่างและบุคคลดีเด่นในการประกอบอาชีพทอผ้าเกาะยอ โดยเฉพาะทอผ้าเกาะยอลายผกากรอง 8 ตะกอ ที่ได้รับรางวัลระดับประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2517-2521 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้นายกริ้ม สินธุรัตน์ ไปเป็นครูสอนทอผ้าที่ศูนย์พัฒนาอาชีพ จังหวัดนราธิวาส และยังได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้ไปสอนการทอผ้าที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา โดยได้รับเงินเดือน จากสำนักพระราชวัง นับว่าท่านเป็นช่างชั้นครูท่านหนึ่ง



เกียรติคุณที่ได้รับ



พ.ศ. 2522 : รับพระราชทานเข็มที่ระลึก ภปร. ในการสนองงานโครงการพระราชดำริ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

พ.ศ. 2545 : บุคคลดีเด่นในการประกอบอาชีพผ้าทอเกาะยอ จากสโมสรโรตารีหาดใหญ่นครินทร์

พ.ศ. 2546 : บุคคลตัวอย่างแก่สังคม โดยยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักเบญจศีล เบญจธรรม โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครบรอบ 76 พรรษา จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2547 : 
รางวัลชมเชยประเภทผ้าทอมือ ในการประกวดผ้าไหมและผ้าทอไทยสไตล์สากล 2546 จากคณะกรรมการรณรงค์ใช้สินค้าและบริการไทย

พ.ศ. 2548 : ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 4 ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

พ.ศ. 2551 : ได้รับพระราช ทานปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการพัฒนาและออกแบบผ้าทอ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา

พ.ศ. 2560 : ได้รับการเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” ประจำปี 2560 จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)


ก่อตั้งกลุ่มร่มไทร

เมื่อ พ.ศ. 2545 สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ สาขาจังหวัดสงขลา โดยมีนางประณีต  ดิษยะศริน นายกสมาคมฯ (ในสมัยนั้น) ได้สนับสนุนให้นายกริ้ม สินธุรัตน์ ทำการรวบรวมสมาชิกผู้สนใจในการทอผ้า เพื่อก่อตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าร่มไทร ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าเกาะยอ โดยมีนายกริ้ม สินธุรัตน์ เป็นที่ปรึกษา และนางสาวจงกลนี สุวรรณพรรค เป็นประธานกลุ่ม ได้มีการถ่ายทอดความรู้ ในเรื่องการทอผ้าด้วยกี่กระตุกให้กับสมาชิกและผู้สนใจ

นอกจากทอผ้าลายดั้งเดิมของผ้าทอเกาะยอแล้ว กลุ่มร่มไทรยังได้พัฒนาลายผ้าทอเกาะยอ โดยร่วมกับนักวิจัยนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ออกแบบลายใหม่ๆ เช่น ลายเกล็ดปลาขี้ตัง โดยให้ชื่อตามชื่อปลาในทะเลสาบสงขลา ลายเกล็ดปลาขี้ตัง จึงถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของผ้าทอเกาะยอของกลุ่มร่มไทร

ปัจจุบันผ้าทอเกาะยอได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างแพร่หลาย อีกทั้งยังมีผู้ให้ความสนใจมาศึกษาเรียนรู้การทอผ้าเกาะยออย่างต่อเนื่อง โดยมีนายกริ้ม สินธุรัตน์ เป็นครูผู้ถ่ายทอด นับว่าท่านเป็นผู้อนุรักษ์ผู้สร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาผ้าทอเกาะยออีกท่านหนึ่งที่สำคัญยิ่ง