ภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
ภูมิปัญญาในการจัดการธรรมชาติให้มีการอยู่ร่วมกัน อาศัยร่วมกัน เป็นสวนป่าในบ้าน การจัดการเพาะปลูกพันธุ์ไม้ของชาวบ้านตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ไม่ได้เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (Monoculture) ที่มีลักษณะการปลูกพันธุ์ไม้ชนิดเดียวในพื้นที่แปลงขนาดใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันพบว่าลักษณะของพืชมีการปลูกร่วมกันหลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกันเป็นลักษณะสวนสมรม การปลูกพืชแบบสวนสมรมนี้อาศัยการพึ่งพาอาศัยกันของพันธุ์ไม้ซึ่งมีให้พบเห็นทั่วไปในตำบลเกาะยอ ในพื้นที่หนึ่ง ๆ จะมีตั้งแต่ไม้ที่มีทรงพุ่มสูง เช่น ต้นไฟกา ต้นเนียง ต้นกระท้อนป่า ทุเรียนบ้าน สะตอ ฯลฯ ส่วนด้านล่างพืชที่มีทรงพุ่มสูงจะมีพันธุ์ไม้อื่น ๆ ผสมผสาน เช่น ละมุด จำปาดะ เป็นต้น ส่วนผสมแบบนี้ได้กินตลอดปีเหลือจากกินก็ขาย การจัดการในด้านการดูแลรักษาพันธุ์ไม้ยังมีความเป็นธรรมชาติ ชาวบ้านมักจะไม่นิยมใช้สารเคมีฆ่าแมลง ด้วยเหตุผล คือ ก่อให้เกิดอันตรายให้กับตนเองและบุคคลในครอบครัวได้ เนื่องจากบ้านเรือนพักอาศัย อยู่ในพื้นที่เพาะปลูก และที่สำคัญจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพราะผลผลิตที่ได้ก็นำมาบริโภคในครัวเรือนด้วย หากมีการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเองด้วยเช่นเดียวกัน บนฐานของความเข้าใจธรรมชาติพบว่าชาวบ้านตำบลเกาะยอ ยังนิยมใช้โคระ ซึ่งเป็นวัสดุที่ทำจากใบมะพร้าวมาจักสานใช้เป็นวัสดุห่อหุ้มผลจำปาดะ เพื่อป้องกันแมลงวันทองมาชอนไชวางไข่ ด้วยความเชื่อที่ว่าสีและกลิ่นของโคระทำให้แมลงวันทองไม่ชอบ หรือเชื่อว่าการนำโคระมาห่อหุ้มทำให้เกิดความร้อนบริเวณรอบผลทำให้แมลงวันทองไม่มาวางไข่ เป็นต้น
อ้างอิง : เชิดชัย อ๋องสกุล, พิทยา บุษรารัตน์. พันธุ์ไม้พื้นเมืองเกาะยอ ความหลากหลายและคุณค่าภูมิปัญญาไทย. ๒๕๔๒, ๑๑๒-๑๑๓.
โคระ : เครื่องหุ้มห่อผลไม้
โคระ (โคฺระ) หรือโคร่ เป็นเครื่องจักสานที่ใช้ห้อหรือสวมผลไม้จำพวกขนุนและจำปาดะ เพื่อป้องกันตัวหนอนชอนไชทำความเสียหายให้กับผลไม้ โดยทั่วไปทำจากใบมะพร้าวสดหรือแห้งก็ได้ ถ้าเป็นใบแห้งต้องแช่น้ำก่อนหนึ่งคืน เพื่อให้ใบคลี่สะดวกต่อการสาน การทำโคระเริ่มด้วยเลือกทางมะพร้าวที่มีก้านใบสมบูรณ์ดีไม่มีรอยฉีกขาดหรือมีแต่น้อย ตัดทางให้เป็นท่อนติดก้านใบละ ๓ ก้าน รวม ๖ ก้าน นำท่อนที่ตัดแล้วจำนวน ๒ ท่อนสานเข้าด้วยกัน โดยจับท่อนทางทั้งคู่หันหน้าเข้ากัน สานขึ้นเป็นรูปทีละด้านด้วยลายขัด เมื่อขัดตอกได้ ๔ ตาแล้ว ใช้ก้านมะพร้าวทำเป็นหมุดกลัดตอกเส้นบนสุดของทั้งสองข้างไว้กันหลุด แล้วพลิกไปสานด้านตรงข้ามต่อไป ขัดตอกตามวิธีเดิมจนได้รูปคล้ายกรวย ปลายตอกทั้งสองของแต่ละท่อนทางจะไปรวมอยู่ด้านเดียวกัน ขัดตอกตามวิธีเดิมจนใกล้สุดปลายตอกใบ รวบปลายใบขัดเป็นปม ๒ ปม คล้ายผมเปีย ได้รูปโคระที่เสร็จสมบูรณ์
อนึ่ง การทำโคระขนาดที่โตกว่า เพื่อใช้ห่อผลไม้ขนาดโตก็ทำได้โดยการตัดทางมะพร้าวให้มีตอกใบข้างละ ๕-๗ ก้าน ๒ ท่อน ได้ก้านใบ ๒๐–๒๘ ก้าน สานขึ้นรูปโดยวิธีเดียวกัน
ชาวสวนใช้โคระสวมขนุนหรือจำปาดะตั้งแต่ยังเป็นผลอ่อนอายุประมาณ ๑ เดือน โดยสวมทางปากหรือก้นก็ได้ แล้วปล่อยทิ้งไว้จนผลไม้เจริญเต็มที่ โคระก็จะขยายตัวยืดออกตามขนาดของผลไม้นั้น ๆ โคระแต่ละใบใช้ได้เพียงครั้งเดียว ชาวสวนบางคนนิยมสานโคระออกจำหน่ายด้วย (สภ.อ.)
อ้างอิง : สุภาคย์ อินทองคง. (๒๕๒๙). โคระ : เครื่องหุ้มห่อผลไม้. สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้, (๒),๖๖๑-๖๖๒.